วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ลูกหมาหลงทาง


เราเห็นเจ้า...ตั้งแต่เปลือกตา...อยากเผยอแต่ยังแนบชิด
กลิ่นหอมของตัวเจ้า...ยังติดอยู่ปลายจมูกของข้า
พอเจ้าเติบโตมาก็ขี้เล่น,ประจบและเอาใจ

ซุกซนและชอบกัดแทะ...เราเข้าใจ
เพราะอยู่ในวิสัยของ...ลูกหมา
อุจจาระไม่เป็นที่เป็นทาง...เรายอมรับ
เพราะของอย่างนี้...ฝึกฝนกันได้
เห่าหอนไม่รู้จักเว-ล่ำเวลา...เราดีใจ
เพราะเจ้าเห่า....คนแปลกหน้าและหมาต่างถิ่น

วันหนึ่ง...วันที่ลูกหมาเปี๋ยนไป๋
วันนั้นสายฝนก็เริ่มสาๆ...ท้องฟ้าก็กำลังสดใส
กิจวัตรประจำวันของลูกข้า...นำอาหารมาให้เจ้าได้อิ่มท้อง
ลูกชายของข้า...กำลังยื่นมือเพื่อยื่นอาหารให้เจ้า
เจ้าก็เนรคุณโดยการกัดมือผู้มีพระคุณซะเป็นแผลเหวอหวะ

ลูกข้า...ข้าก็รัก...ตัวเจ้า...ข้าก็รัก
แต่ข้าก็รักลูกชายของข้า...มากกว่า
วันนั้น...เรียวไม้..ที่กระหน่ำโบยตีเจ้า..นับหนึ่ง นับสอง
วันนั้น...ข้าตีเจ้า..ทั้งน้ำตา..พร้อมเสียงร้องโอดโอยของเจ้า
ไหนเจ้าว่า...เจ็บอย่างไรก็จะไม่ร้องไงละ..เอ๋งๆๆๆ

วันนี้...วันที่...ลูกหมาหลงทาง
วันนี้...วันที่...ข้าจุดเทียนด้วยปลายทั้งสองข้าง
แสงสว่างมันคงแจ่มจรัส...อัศจรรย์
แต่เทียนของข้า...คงจะอยู่ไม่ถึงรุ่งสาง
แต่ก็ส่องสว่าง...ให้เห็นเส้นทาง...กลับบ้าน...กลับบ้าน

ผ้าปูนอนสีแดงของเจ้า...ข้าตัดมาทำเป็นธงปักไว้หน้าบ้าน
วันใดที่เจ้าผ่านมาทางนี้...ได้เห็น...และได้กลิ่น...
เจ้าจงรู้ว่า...ข้ายังคอย...ลูกหมาหลงทาง
แต่ถ้าวันใด...ที่เจ้าผ่านมา...ไม่เห็น...ไม่ได้กลิ่นธงแดง
ก็แสดงว่า...วันนั้น...ข้าหมดรักเจ้าแล้ว

เจ้าจง...เดินผ่านไป...ลูกหมาหลงทาง

บันทึกเมื่อ : 9 ตุลาคม 2548

100 ปี โรงเรียนเก่า "สีม่วงเป็นของฉัน สีขาวนั้น...ฉันให้เธอ"




ต้นสักแผ่กิ่งก้านไสว...ใบช่วยบังแสงจันทร์กระทบผิวกาย
สายลมของเดือนธันวาพัดพา...ปลิดใบเหลือง...ร่วงเป็นดิน
20 ปีที่จาก...ครบ 100 ปี...ถึงจะเจอ...เธอกับฉัน

วันนั้น...สองมือผูกกันไว้..ด้วยเรียวนิ้วทั้งสิบ
วันนั้น..ใจสองใจ..ผูกกันไว้..ด้วยมิตรไมตรี
วันนั้น...พี่กับน้องคล้องใจ..แต่ไม่คล้องกาย
วันนั้น...กระต่ายในดวงจันทร์..เป็นพยาน
ใต้ต้นสัก...ต้นนั้น...มีฉันกับเธอ
ดั่ง...นกสองตัวผูกติดกัน..แม้มีสี่ปีกก็ไม่สามารถบินได้
ครั้งหนึ่งในชีวิต...ถูกหรือผิด..อยู่ในความทรงจำ

ได้คบ..ได้คุย..ได้คนึงหา..
แต่การจากลา...คือ...นิรันดร์
ริสแบนด์สีม่วงเป็นของฉัน...ริสแบนด์สีขาวนั้น...ฉันให้เธอ

บันทึกเมื่อ : 17/12/2548

นอกชาน...ยามเย็น






ใครที่ไม่เคยมีบ้านทรงไทย..หรือว่าไม่ใช่คนชนบท
อาจจะมองไม่เห็นภาพ..เอ๊ะอะไร...คือนอกชาน

บ้านเกิดของกบฯอยู่ในชนบทแถวภาคกลาง..มีต้นมะพร้าว
มีต้นตาล..มีต้นพุทรา..มีต้นมะขามเทศ..มีต้นฝรั่งขี้นก..
ที่ออกผลดกจนกินไม่ไหว กล้วยน้ำหว้า กอไผ่ อยู่ท้ายบ้าน
ส่วนหน้าบ้านมีต้นชบาถ้ายืนมองจากนอกชานจะเห็นนาข้าว
เป็นทิว ใบข้าวก็ปลิวไสว สมัยนั้น..จิตใจคนยังสูง..
จึงไม่มีรั้วบ้านให้เห็น จะเข้าไปวิ่งเล่นบ้านไหน
ก็ไปได้สบายๆ..นี่เป็นบรรยากาศเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว นะจ๊ะ

เรามีบ้านทรงไทย..หลังเล็กๆอยู่ภายใต้ร่มไม้ใหญ่
เป็นบ้านเรือนไม้..ใต้ถุนสูง..ผูกเปลไว้นอนเล่น..ข้างเล้าไก่
ไก่เหล่านี้แหละ..ที่เป็นนาฬิกาปลุกอย่างดี..ไม่มีโกงเวลา
เช้าขึ้นมาก็..เอ๊ก..อี้.เอ็ก..เอ๊กๆๆ พร้อมกับหวูดโรงสี
ที่มาตรงเวลาของตีห้า..ของทุกวัน...เช้าวันใหม่..มาแล้ว

เช้าขึ้นมา..แม่ก็หุงข้าวหาปลาให้กิน..
ไม่มีหรอกจ๊ะหม้อหุงข้าวไฟฟ้าจะมีก็แต่หม้อสแตนเลส
บุบบิ๊บบู้บี้ และตูดดำ ที่ต้องหุง..และดงให้สะเด็ดน้ำ
แถมยังได้น้ำข้าวใส่เกลือป่นเล็กน้อยไว้ซดยามท้องหิวอีก
อาหารโปรดสมัยนั้นก็ปลาดุกย่างคลุกน้ำปลา
เท่านี้ก็กินกันจนพุงกางแล้ว จ๊ะ

เช้าขึ้นมา..กบฯก็จะมานอนเล่นที่นอกชาน..คอยนับ
นกกระยาง ที่บินออกไปหากิน..ที่ละตัวๆ หนึ่ง ฉอง ฉาม ฉี่
คร๊อกๆๆๆ นับไม่หมดสักที..สายลมเย็นๆพัดปะทะเปลือกตา
นิทรา ดีกว่าเรา เด็กๆใช้พลังเยอะ ก็ต้องนอนเยอะเป็น
ธรรมดา กิน นอน เล่น เป็นวิถี ของชนบท

พอตะวันพ้นขอบฟ้ามาที่ เก้านาฬิกา
กบฯก็จะได้ยินเสียงเพลงของสุรพล สมบัติเจริญ
จากวิทยุทรานซิสเตอร์เล็กๆของแม่
"ลืมผมหรือยังครับแฟน เมื่อก่อนเคยฟังกันแน่น
แฟนจ๋าแฟนลืมผมหรือยัง"
แค่นี้แม่ก็ยิ้มไปซักผ้าไปเหมือนน้องอุ้ม
ในเรื่องมนต์รักทรานซิสเตอร์ อย่างไรอย่างนั้น

สมัยเด็กๆมีผลไม้ให้กินมากมายไม่ต้องซื้อหาเหมือนสมัยนี้
อยากกินฝรั่งก็ปีนขึ้นไปกินบนต้น..เลือกเอาว่าชอบแบบสุก
หรือว่าชอบแบบดิบ เลือกเอาตามอัธยาสัย เพราะว่ามันเป็น
ฝรั่งที่บ้านเรา อยากกินพุทราก็ไปเก็บกินตามท้ายทุ่งนาได้
อยากกินมะขามเทศก็ปีนป่ายขึ้นไปอย่างกะลิงกะค่าง
ของเล่นสุดฮิตก็เป็นม้าก้านกล้วย เอาก้านใบตองมาเลาะใบ
ให้หมด แล้วก็หักก้านใบตองเป็นหัวม้า
เท่านี้ก็ขี่ไปไหนต่อไหน ได้ตั้งไกล เท่าที่ใจอยากจะไป

ตกเย็น...กิจกรรมของคนชนบท..ไม่มีอะไรมาก..
พ่อแม่..พี่น้อง..ปู่ย่าตายาย ก็จะมานั่งคุยกัน..ที่นอกชาน
ส่วนตาของกบฯ ก็จะหลบไปดูดยา..ที่ใต้ถุนบ้าน

หกโมงเย็นทีไร...เสียงเพลงของระพิน ภูไท..
แว่วมาอีกแล้ว มีคนเคยบอกว่าเพลงแว่วนี่แหละเป็นเพลง
ที่ไพเราะ และอยู่ในความทรงจำมากที่สุด
"ลืมคนชื่อพิณ เสียแล้วแม่กลิ่นดอกเตย"
เป็นเพลงแว่ว ที่มาจากวิกหนังในตลาดสงสัยมีแผ่นเสียง
อยู่แผ่นเดียว เปิดทีไร ต้องได้ฟังเพลงนี้ทุกที

พอค่ำๆหน่อยแม่ก็จะพา กบฯกับน้องขึ้นรถจักรยาน
ฮัมเบอร์ ด้วยนะจ๊ะ เท่ไม่เบา แล้วจ๊ะสมัยนั้น
หน้าวิกก็จะมีของขายมากมาย ที่ชอบกินก็มีข้าวโพดคั่ว
อ้อยควั่นเสียบไม้ เป็นพวงๆเหมือนดอกอะไรสักอย่าง
นี่แหละ ส่วนข้าวโพดคั่ว ก็หอมจรุงใจ
พรมเกลือเล็กน้อยด้วยกระบอกฉีดยากันยุง
ลืมป๊อบคอร์น สมัยนี้ได้เลย อร่อยไม่ได้ครึ่งหรอกจ๊ะ

วิกหนังสมัยก่อน..ค่าชมไม่แพงหรอกจ๊ะ
ชั้นหน้าสุด หนึ่งบาท ชั้นหลัง หกสลึง เข้าไปก็จะได้กลิ่น
อมตะของวิกหนัง คือกลิ่นอับๆชื้นๆ และกลิ่นปัสสาวะ ที่
โชยมาแตะจมูกทุกครั้ง..
ถ้าชั้นบนชั้นไฮโซจะแพงหน่อย เก็บสองบาท
กบฯยังจำได้สมัยนั้นแม่พาไปดูหนังเรื่อง ช้างเพื่อนแก้ว
กบฯร้องให้ซะตาบวมเลย มนต์รักลูกทุ่ง เวอร์ชั่น
มิตร ชัยบัญชา กับ เพชรา เชาว์ราษฎร์ ก็ได้ดู จ๊ะ

และอีกความบรรเทิงของคนชนบท..อีกอย่างก็คือ
หนังกลางแปลง จ๊ะ...หนังกลางแปลงมาฉายเมื่อไร
กบฯจะหอบเสื่อ..วิ่งไปจองที่ก่อนทุกที แต่...โหย
กว่าจะได้ดู..โฆษณาขายของแล้วขายของอีก
ตอนนั้นก็มี..พวกถ่านไฟฉายตรากบ..ตราแพะ
แล้วก็พวกยาถ่ายพยาธิ โฆษณาจนหลับไปหลายตื่น
ก็ยังไม่ฉายสักที..แม่ก็จะมีพัดที่พ่อซื้อให้จากจันทร์บุรี
เอาไว้พัดให้ลูกๆ กลิ่นลมผสมกลิ่นพัด... จากมือแม่
ช่างหอมและเย็น ยิ่งกว่า..แอร์คอนดิชั่นไหนๆก็สู้ไม่ได้

ยามหน้าฝน..อะไรจะมาสนุกเท่ากับ การออกมาเล่น
กับสายฝน...สนุกจนลืมไปว่า..
ฝนแรกมักจะพาเชื้อโรคมาด้วย
ก็เจ็บป่วยกันด้วยไข้หวัดงอมแงม..นั้นแหละจ๊ะ
ความสุข..ที่เกิดจากการไม่สบายก็คือ..
แม่จะซื้อโอวัลตินร้อนๆให้กิน..สมัยนั้น
โอวัลตินทำไมมันหอมหวาน..และอร่อยมากกว่าวันนี้
หรือว่าจะเป็นโอวัลตินคนละสูตรกันกับ โอวัลตินสมัยนี้
แล้วของกินอีกอย่างยามไม่สบายก็คือน้ำส้มแฟนต้า
นี่แหละจ๊ะ..ต้องไม่สบายก่อนถึงจะได้กิน..กินไปเรอไป
ไม่นานก็หายเจ็บ หายไข้
หน้าฝนมีความสุขที่สุดก็คือได้เล่นกับสายฝน.นี่แหละ..
ถึงแม้ป่วยไข้ก็มีความสุข เพราะได้ของอร่อยๆกิน
และมีแม่คอยเอาอกเอาใจ..ป้อนข้าวป้อนน้ำ
ยามลูกป่วยไข้..มือที่อุ่นที่สุดคือมือแม่ที่มาอังหัว..
อังหัวทีไร...ไข้ลดทุกที..เป็นการถ่ายพิษไข้
ด้วยพลังหลังมือแม่..ซึมซับ...เอาความเจ็บป่วยของลูกไป
สมัยนั้น...หน้าฝนก็คือหน้าฝน...ประมาณ 3 เดือน
มองไปตรงไหน..ก็เขียวชอุ่ม..มีความสุขเสียนี่กระไร

ยามหน้าหนาว..ตามชนบท..ก็หนาวจับขั้วหัวใจ
เสื้อกันหนาวกี่ตัวต่อกี่ตัวก็เอาไม่อยู่
กิจกรรมยามหน้าหนาว...ยามเช้าเรามาผิงไฟกัน
ข้างบ้านเขาทำขนมจีน..ก็เอาแป้งจี่..มาปิ้งไฟ.กินกัน.
ก็กินกันได้เอร็ดอร่อย..มันเทศเผาไฟ..ก็อร่อยไม่แพ้ใคร
ปลายธันวา ก็ย่างเข้าเขตหน้าหนาว ที่มาพร้อมกับลมว่าว
ตอนนั้นพ่อของกบฯก็ทำว่าวให้ หนึ่งตัว แต่มันเหมือนกับ
ว่าวที่พิการอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะต่อพู่ ต่อหาง ซะยาว
แต่ก็ติดลมบน นะจ๊ะ เกือบๆจะเรียกว่าว่าวตับแตกอยู่แล้ว
เชียว เพราะติดลมบนยากเหลือเกิน แต่พอติดลมบนแล้ว
ก็คล้ายๆกับ พ่อโบกมือให้ ทำนองว่าเป็นไง..พ่อเก่งไหมจ๊ะ

ส่วนหน้าร้อน..เป็นหน้าที่เบื่อที่สุด แอร์ พัดลม ไม่เคยเห็น
เห็นแต่พัดมือ นี่แหละ มีกำลังแค่ไหน ก็เย็นแค่นั้น ส่วน
กลางวันของหน้าร้อน ถ้าไม่มีอะไรทำก็จะถอดเสื้อ นอน
เกลือกขี้ดิน ที่ใต้ถุนบ้านนั้นแหละ เย็นดี ถ้าแม่มาเห็นเข้า
ก็จะมีรายการออกกำลัง ลงไม้ลงมือกัน นิดหน่อย โทษ
ฐาน ทำร่างกายและกางเกงสกปรก ก็โดนซะ สองสามป๊าบ
นั้นแหละ ..และพ่อก็จะเข้ามาโอ๋ โถ......สมน้ำหน้า

ตกกลางคืน..บ้านกบฯจะมีวิทยุโบราณ..เครื่องใหญ่ๆ
อยู่เครื่องหนึ่งพอถึงเวลา..ตาก็จะเปิดวิทยุเอเอ็ม..
ฟังนิทานนกฮูก..ซึ่งเล่าเรื่องผี กลัวก็กลัว
อยากฟังก็อยากฟัง..และต้องนั่งห่างๆร่องด้วย เพราะกลัว
ว่าผีจะมาจกตูด จกใส้

วันนี้..วันที่กบฯไปเยี่ยมบ้าน
จากถนนลูกรัง...กลายเป็นถนนราดยางมะตอย
รถโดยสารที่ตัวถังเป็นไม้..ก็พัฒนามาเป็นเหล็ก
แถมมีทีวี..ให้ดูด้วย เมื่อก่อนเข้าเมืองทีไรก็กินฝุ่นหัวแดง
เป็นลูกครึ่งโดยที่ไม่ต้องมีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์...เป็นฝรั่ง

บ้านไม้ ใต้ถุนสูง..ไม่มีแล้ว...กลายเป็นตึกแถว..สูงระฟ้า
ต้นมะพร้าว..ต้นตาล..ต้นมะขามเทศ..ต้นฝรั่งขี้นก
ที่ไม่มีผลดกให้กินอีกแล้ว..ต้นชบา..หน้าบ้านก็อันตธาน
หายไป..ฉำฉาต้นใหญ่ที่ตอนเย็นจะมีเสียงจั๊กจั่นร้อง...
ก็ไม่มี..ร้านกาแฟหน้าวิก..ก็พัฒนามาเป็นเซเว่น-อีเลฟเว่น
ส่วนวิกหนัง...ที่เคยไปดู...ไปวิ่งเล่น..ก็ปิดไปแล้ว
เพราะสู้กับกระแสละครหลังข่าวไม่ไหว
ผู้คนก็ล้มหายตายจากกันไป..ทีละคนสองคน
ดังลมพัดขั้ว ปลิดใบปลิวผล่อยล่วง....
ได้มาอย่างหนึ่ง..ก็ต้องสูญเสียสิ่งหนึ่งไป...
ธรรมชาติ..ย่อมสร้างความสมดุลย์..ให้กับสรรพสิ่ง.เสมอ


บันทึกเมื่อ : 3 กรกฎาคม 2548